เงิน การตลาด ฟุตบอลอังกฤษ
"เงิน การตลาด ฟุตบอลอังกฤษ"
ไม่ต้องสงสัยว่าสิ่งที่ทำให้ลีกอังกฤษขับเคลื่อนได้ทุกวันนี้คือ "เงิน" ที่หมุนเวียนอยู่ในลีกมหาศาล
หากลองศึกษาโมเดลทางการเงินที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลแล้วนั้น ส่วนหนึ่งมาจากกลุ่มทุนที่เข้าไปลงทุน ซึ่งมีหลายทีมที่เจ้าของทีมไม่ใช่คนที่มีสัญชาติอังกฤษ และธุรกิจของนักลงทุนยุคบุกเบิกเหล่านี้ กลายเป็นโมเดลที่อังกฤษนำมาใช้เป็นส่วนสำคัญสำหรับการขับเคลื่อนลีกไปข้างหน้า มองเป็นเรื่องดีมันก็ดี เพราะมันเป็นเงินลงทุนฟรีที่เกิดจากต่างชาติทำให้มูลค่าทางการตลาดของพรีเมียร์ลีกสูงขึ้นไปด้วย
แล้วมันดีจริงหรือ???
อย่าลืมว่าทรัพย์สินมันก็กลายเป็นของนักธุรกิจต่างชาติ นักธุรกิจจะเข้ามารุกคืบกลืนกินเกมส์กีฬา นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาถือหุ้นใหญ่ในสโมสร ถืออำนาจที่มีอยู่มากมาย เขาเหล่านั้นสามารถที่จะใช้เงินฟาดหรือใช้นิ้วชี้สั่งการ สนองความต้องการในระยะสั้นไปจนถึงยาว และเมื่อเป็นเช่นนี้ สปอนเซอร์หลายราย ก็รุกคืบเข้าหาทีมใหญ่ ทำให้มีรายได้อีกมหาศาล ทำให้เกิดการเจริญเติบโตแบบก้าวกระโดด
แล้วมันพัฒนาจริงรึเปล่า???
ตอบแบบไม่ต้องสงสัยว่ามีส่วนจริง แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะตอนนี้อังกฤษกำลังล้มเหลวกับระบบเยาวชนของตนเอง หากมองย้อนกลับไป จะเห็นว่า เดิมทีพื้นฐานที่นำมาใช้พัฒนาลีก ถูกสร้างจากระบบเยาวชน การพัฒนาเยาวชนถือเป็นเรื่องสำคัญที่หลายสโมสรให้ความสำคัญมากๆ รายได้ที่ได้จากการซื้อขายนักเตะหมุนเวียนอยู่ภายใน และเยาวชนก็มีโอกาสได้พิสูจน์ฝีเท้า แต่ปัจจุบัน เยาวชนอังกฤษไม่มีโอกาสได้เกิดมากนัก และนี่คือเหตุผลว่าทำไมเยาวชนอังกฤษถึงมีราคาแพง เกิดมาซักคนนี้เหมือนพระเจ้าประทานพรแก่ชาวเมืองยังไงยังงั้น ความต้องการความสำเร็จแบบเร่งด่วน คือตัวแปรสำคัญที่ทำให้เงินถูกทุ่มใช้ไปอย่างหนักกับนักเตะต่างชาติที่ให้ผลสำเร็จตามต้องการมากกว่า นี่คือผลพลอยได้ที่เกิดขึ้นจากนักธุรกิจที่เข้ามาลงทุน ทำให้พรีเมียร์ลีก ไม่เหลือที่ไว้ให้เยาวชนอังกฤษของตัวเอง
นักเตะอังกฤษกำลังถดถอยแทนที่จะเพิ่มมากขึ้น???
ก็ไม่แปลกที่เยาวชนชาวอังกฤษ จะหันหลังให้กับฟุตบอล แล้วเลือกที่จะไปทำอาชีพอื่นแทนการมาเล่นฟุตบอล เพราะมันเป็นเรื่องยากที่จะได้เล่นฟุตบอลในระดับสูงสุดหากขาดความมานะและพรสวรรค์ระดับสูง และยิ่งไม่ได้เริ่มเป็นเด็กฝึกหัดที่เล่นให้ทีมระดับบิ๊กหรือทีมในพรีเมียร์ลีก ก็คงได้เกิดยาก เพราะมีแต่จะต้องไปวนเปลี่ยนหมุนเวียนอยู่กับทีมระดับแชมป์เปี้ยนชิพ นี่คงจะทำให้เหลือก็เพียงทีมเล็กๆที่ยังคงเดินหน้าปั้นเยาวชนของตนเองเพียงอย่างเดียว เพราะทีมใหญ่ๆสามารถใช้อำนาจทางการเงินในการบริหารจัดการเรื่องนี้ให้ง่ายขึ้น ความจำเป็นที่ควรให้ความสำคัญกับนักเตะอังกฤษเองเมื่อเทียบกับนักเตะต่างชาติเก่งๆแล้ว มันไม่มีความจำเป็นต้องเหลียวแลคนอังกฤษเลย สู้ไปให้ความสำคัญกับสตาร์ราคาแพงที่ซื้อมาแล้วได้ค่าการตลาดซะยังจะดีกว่า นี่คือเหตุผลที่ทำให้อัตราส่วนของนักเตะอังกฤษลดน้อยถอยลงไป
หากเทียบกับกีฬาอื่นหรือลีกอื่นๆ???
เทียบกับ NBA หรือ NFL ที่มีมูลค่าทางการตลาดสูงเช่นเดียวกัน มีเรื่องของธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย ทีมใน NBA หรือ NFL ต่างก็โกยรายได้มหาศาลเช่นเดียวกัน แต่สิ่งที่แตกต่างคือ เงินทุนที่คอยขับเคลื่อนส่วนใหญ่ยังมาจากคนอเมริกันโดยคนอเมริกันเอง ซึ่งมันแตกต่างกับอังกฤษอย่างมาก เพราะโมเดลที่ใช้ขับเคลื่อนมีสถานะของตัวแปรพื้นฐานที่ต่างกัน หรือเทียบกับ ทีมฟุตบอลอย่างโวล์ฟบวร์กที่มีโลโก้ Volkswagen บนอกเสื้อ ซึ่งเป็นแบรนด์เยอรมันเอง เทียบกับอกเสื้อจากทีมพรีเมียร์ลีกแล้ว มันก็ไม่ต่างการสร้างมูลค่าการตลาดให้กับคนที่จ่ายเงินซื้อค่าสื่อโฆษณาบนอกเสื้อนั่นแหล่ะ แต่ตัวแทนที่เป็นคนขายแบรนด์ต่างๆนั้น กลับเป็นแบรนด์ต่างชาติที่รุกคืบเข้ามา ถ้ามองในมุมมองของนักลงทุนที่ซื้อแล้วมีความคุ้มค่ามหาศาล แต่หากมองในมุมมองของคนอังกฤษเองแล้ว ความคุ้มค่ากับเม็ดเงินลงทุนกำลังทำให้พวกเขาขาดทุนจากทรัพยากรมูลค่ามหาศาลที่พวกเขามีอยู่
ทั้งหมดนี้ มันกำลังนำอังกฤษเข้าสู่ยุคมืดอยู่รึเปล่า???
ผมมองว่า สิ่งที่พรีเมียร์ลีกกำลังทำอยู่นี้ ไม่ต่างอะไรกับการซื้อเวลาเพื่อยื้อธุรกิจฟุตบอลไปสู่อนาคตเลย จริงอยู่ว่ามันได้ผล แต่ถ้ามองกันในระยะยาว มันเป็นผลลัพธ์ที่สามารถยอมรับได้ในระยะยาวจริงๆ หรือว่ามันเป็นผลลัพธ์ที่กำลังบ่อนทำลายฟุตบอลอังกฤษกันแน่ ธุรกิจย่อมอยู่ได้เมื่อมีคนติดตาม แต่คนอังกฤษกำลังจ่ายเงินบริโภคแบรนด์ต่างชาติที่ใช้ชื่ออังกฤษอยู่รึเปล่า นี่คงเป็นการสร้างประเด็นคำถามที่น่าสนใจพอสมควร และหากทุกคนมองมุ่งเน้นไปที่ผลประกอบการธุรกิจเพียงอย่างเดียวมันก็มีแต่กราฟที่พุ่งขึ้นแสดงให้เห็นถึงการพัฒนา แต่ทว่ากราฟพื้นฐานสำคัญที่ไม่ได้ถูกนำมาเปิดเผยมันกำลังถดถอย ฉะนั้นสิ่งที่สื่ออังกฤษกำลังนำเสนอให้เราเห็นอยู่ทุกวันนี้มันเป็นแค่เปลือกรึเปล่า?
บทความโดย: ผมเอง