ดาวซัลโวยุโรป
Status: เบื่อ
: 0 ใบ
: 0 ใบ
เข้าร่วม: 16 Jul 2007
ตอบ: 17819
ที่อยู่: โกโรโฮ ประเทศจีน
โพสเมื่อ: Wed Sep 10, 2014 12:38
....ลาวดวงเดือน.....ในมุมมองประวัติศาสตร์
“โอ้ละหนอดวงเดือนเอย...”
ขึ้นต้นด้วยเนื้อร้องเพียงท่อนแรกนี้ หลายคนก็จำได้ทันทีว่าเป็นเพลง “ลาวดวงเดือน” เพลงไทยเดิมที่ประทับใจคนไทยมาหลายรัชกาลจนถึงยุคปัจจุบัน และถือว่าเป็นเพลงอมตะของไทยเพลงหนึ่ง
ท่วงทำนองของ “ลาวดวงเดือน” อ่อนละมุนเป็นธรรมชาติที่ซาบซึ้งใจ แต่เนื้อร้องท่อนหนึ่งมีนัยแฝงความเศร้า เหมือนเป็นคำรำพันออกมาจากดวงหทัยทนทุกข์ที่จำต้องพรากจากคนรัก อันเป็นเบื้องหลังของเพลงนี้ ที่ว่า
“โอ้ละหนอ นวลตาเอย ข้อยนี้ฮัก แสนรักดังดวงใจ
โอ้เป็นกรรมต้องจำจากไป อกพี่อาลัยเจ้าดวงเดือนเอย
เห็นเดือนแรมเริศร้างเวหา เฝ้าแต่เบิ่งดูฟ้า เห็นมืดมน
พี่ทนทุกข์...ทุกข์ทนโอ้เจ้าดวงเดือนเอย พี่ทนทุกข์...ทุกข์ทน โอ้เจ้าดวงเดือนเอย”
ผู้ประพันธ์เพลงนี้ก็คือ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม พระราชโอรสพระองค์ที่ ๓๘ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติจากเจ้าจอมมารดามรกต ธิดาเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) ซึ่งสำเร็จวิชาการเกษตรกรรมมาจากประเทศอังกฤษ กลับมารับราชการเป็นผู้ช่วยปลัดทูลฉลอง กระทรวงเกษตราธิการ ในตอนนั้นไทยกำลังสนใจการเลี้ยงไหมแบบญี่ปุ่น และจ้างด็อกเตอร์จากมหาวิทยาลัยโตเกียว มาสอนวิธีเลี้ยงและทำไหม พร้อมกับสร้างสวนหม่อนและสถานีเลี้ยงไหมขึ้นที่ตำบลศาลาแดง กรุงเทพ จัดตั้งกองช่างไหมขึ้นในกระทรวงเกษตราธิการ ต่อมาในปี ๒๔๔๖ ได้รวมกองการผลิต กองการเลี้ยงสัตว์ และกองช่างไหม ตั้งขึ้นเป็น “กรมช่างไหม” โดยมี พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ เป็นอธิบดีกรมช่างไหมพระองค์แรก และเปิดโรงเรียนสอนการทำไหมขึ้นที่ปทุมวัน เรียกว่า "โรงเรียนกรมช่างไหม" ต่อมาโรงเรียนแห่งนี้ได้สอนวิชาเกษตรสาขาอื่นเพิ่มขึ้นอีก และเปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนการเพาะปลูก” จนพัฒนาเป็น “มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์”
แม้จะทรงรับงานราชการหนัก แต่พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ทรงสนพระทัยในเรื่องดนตรีเป็นอันมาก ในสมัยรัชกาลที่ ๕ วงดนตรีปี่พาทย์ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ตามวัดวาและวังบ้านผู้มีบรรดาศักดิ์ต่างรวบรวมนักดนตรีฝีมือดีมาตั้งวงประชันขันแข่งกัน
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช มี “วงวังบูรพา”
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต มี “วงบางขุนพรหม”
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร มี “วงพระบรม”
พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ ก็มี “วงพระองค์เพ็ญ”
อีกทั้งพระองค์เพ็ญฯยังทรงเล่นเครื่องดนตรีได้หลายประเภท และทรงเป็นนักแต่งเพลงที่นิพนธ์ทำนองเพลงใหม่ๆออกมาอยู่เสมอ
ในปี ๒๔๔๖ เมื่อสำเร็จการศึกษามาจากอังกฤษ พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ได้เสด็จขึ้นไปเที่ยวนครเชียงใหม่ พระยานริศราชกิจ ข้าหลวงใหญ่ประจำมณฑลพายัพ ได้จัดการต้อนรับพระเจ้าลูกยาเธออย่างสมพระเกียรติ อีกทั้งเจ้าหลวงอินทวโรรสสุริยวงศ์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ก็จัดการรับเสด็จตามประเพณีของชาวเหนือ และจัดให้ประทับในคุ้มหลวง
ในงานต้อนรับด้วยพระกระยาหารแบบขันโตกและวงดนตรีแบบล้านนานั้น เจ้าหลวงอินทวโลรสสุริยวงศ์และเจ้าแม่ทิพย์เนตร ได้เชิญพระญาติเจ้านายฝ่ายเหนือมาร่วมรับเสด็จอย่างพร้อมเพรียง และในบรรดาพระญาตินี้ เจ้าราชสัมพันธวงศ์ (ธรรมลังกา ณ เชียงใหม่) และเจ้าหญิงคำย่น (ณ ลำพูน) พร้อมด้วยพระธิดาองค์โต คือ เจ้าหญิงชมชื่น ณ เชียงใหม่ ในวัยย่างเข้า ๑๖ ปี ได้มาร่วมด้วย
ความงามของเจ้าหญิงชมชื่น บรรยายกันไว้ว่า ผิวพรรณผุดผ่องขาวดังงาช้าง ใบหน้าเปล่งปลั่งดั่งดวงเดือน แก้มเปล่งปลั่งด้วยวัยสาวจนเป็นสีชมพู อีกทั้งกิริยามารยาทยังเรียบร้อยนุ่มนวลตามแบบฉบับของกุลสตรีล้านนา ทำให้พระเจ้าลูกยาเธอนักเรียนนอกในวัย ๒๑ เกิดความสนพระทัยทันที
ในวันต่อมา ข้าหลวงมณฑลพายัพก็ต้องรับหน้าที่นำเสด็จพระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ ไปเยี่ยมเจ้าราชสัมพันธวงศ์ถึงคุ้ม และคุ้มนี้ก็ได้มีโอกาสได้ต้อนรับพระราชโอรสองค์นี้อีกหลายครั้ง ซึ่งเป้าหมายการเยี่ยมก็อยู่ที่เจ้าหญิงชมชื่นผู้งามดั่งดวงเดือนนั่นเอง
ความสนพระทัยได้กลายเป็นความปฏิพัทธ์หลงใหลในเจ้าหญิงแห่งเวียงพิงค์ จนยากที่จะหักพระทัยได้ ข้าหลวงมณฑลพายัพจึงต้องรับหน้าที่พิเศษอีกครั้ง เป็นเถ้าแก่ไปสู่ขอเจ้าหญิงชมชื่นต่อเจ้าราชสัมพันธวงศ์และเจ้าแม่คำย่น ตามคำขอร้องของพระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ แต่คำตอบที่ได้รับทำให้พระองค์ชายผิดหวังอย่างแรง ตกอยู่ในอาการซึมเศร้าทันที เมื่อเจ้าราชสัมพันธวงศ์ขอผัดผ่อนให้เจ้าหญิงชมชื่นมีอายุครบ ๑๘ ปีเสียก่อน อีกทั้งยังมีเรื่องสำคัญกว่านั้น ที่มีธรรมเนียมราชประเพณีว่า พระเจ้าลูกเธอพระองค์ใดจะทำการเสกสมรส จะต้องได้รับพระบรมราชานุญาตเสียก่อน เพื่อจะได้รับเป็นสะใภ้หลวงและได้รับยศตามฐานะ หากพระองค์ชายเสกสมรสกับเจ้าหญิงชมชื่นในตอนนี้ ฝ่ายหญิงก็จะเป็นได้เพียงสนมเท่านั้น
พระยานริศราชกิจ ข้าหลวงมณฑลพายัพ ก็จำนนต่อเหตุผลของเจ้าราชสัมพันธวงศ์ เพราะตัวอย่างก็เกิดขึ้นมาแล้วเมื่อปี ๒๔๓๓ เมื่อพระองค์เจ้าโสณบัณฑิต พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเจ้าน้องยาเธอในรัชกาลที่ ๕ ซึ่งทรงดำรงตำแหน่งข้าหลวงต่างพระเนตรพระกรรณมณฑลพายัพ ได้พบรักกับ เจ้าหญิงข่ายแก้ว ณ เชียงใหม่) ธิดาเจ้าทักษิณนิเกตน์ (มหายศ ณ เชียงใหม่ ) กับเจ้าบัวโสม ณ เชียงใหม่ รายนี้แม้จะทรงสมหวังจากการสู่ขอต่อเจ้าพ่อ แต่ไม่ได้รับพระบรมราชานุญาตให้เสกสมรส อีกทั้งเมื่อพระองค์เจ้าโสณบัณฑิตเสด็จกลับกรุงเทพฯ ก็ไม่ได้เอาเจ้าหญิงลงมาด้วยเพราะมีหม่อมอยู่แล้ว ทำให้เจ้าหญิงข่ายแก้วกลายเป็น “แม่ร้าง” เจ้าราชสัมพันธวงศ์จึงกลัวประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยแบบนี้อีก
พระองค์ชายจึงต้องกลับกรุงเทพฯด้วยความทุกข์ระทม ปล่อยให้เชียงใหม่เป็นนครแห่งความหลัง
ครั้นกลับถึงกรุงเทพฯ ข่าวคราวที่พระองค์ชายไปสู่ขอเจ้าหญิงเชียงใหม่ก็แพร่สะพัดไปทั่ว พระบรมวงศานุวงศ์และบรรดาขุนนางข้าราชการ ต่างแสดงความเห็นคัดค้านด้วยเหตุผลต่างๆนานา ทำให้ความรักของพระองค์ชายยากที่จะฟื้นคืนสู่ความสมหวังได้ ทรงผ่อนคลายอารมณ์อันซึมเศร้าไปกับการเล่นดนตรี และฟังการบรรเลงตามวังต่างๆ
ในปีต่อมาจากเสด็จเชียงใหม่ เมื่อพระองค์เพ็ญฯเสด็จไปตรวจราชการภาคอีสาน ซึ่งต้องใช้เกวียนเป็นพาหนะในการเดินทางอยู่หลายครั้ง และเนื่องจากทรงโปรดทำนองเพลง “ลาวดำเนินทราย” อยู่แล้ว ระหว่างที่ประทับแรมอยู่ในภาคอีสาน ยังทรงครุ่นคิดถึงความรักความหลังที่นครเชียงใหม่ ภาพของเจ้าหญิงแห่งนครพิงค์ที่งามเหมือนดวงเดือนยังติดตรึงพระทัย จึงทรงระบายอารมณ์ออกมาเป็นเพลงที่อ่อนละมุนแฝงด้วยความเศร้า ท่วงทำนองแนวเดียวกับเพลงลาวดำเนินทราย ให้ชื่อว่า “ลาวดำเนินเกวียน” มีเนื้อร้องว่า
โอ้ละหนอดวงเดือนเอย ข้อยมาเว้า ฮักเจ้าสาวคำดวง
โอ้ดึกแล้วหนอพี่ขอลาล่วง อกพี่เป็นห่วงรักเจ้าดวงเดือนเอย
ขอลาแล้วเจ้าแก้วโกสุม พี่นี้รักเจ้าหนอขวัญตาเรียม
จะหาไหนมาเทียมโอ้เจ้าดวงเดือนเอย จะหาไหนมาเทียมโอ้เจ้าดวงเดือนเอย
หอมกลิ่นเกสร เกสรดอกไม้ หอมกลิ่นคล้าย คล้ายเจ้าสูของเรียมเอย
หอมกลิ่นกรุ่นครันหอมนั้นยังบ่เลย เนื้อหอมทรามเชย เอยเราละเหนอ
โอ้ละหนอนวลตาเอย ข้อยนี้ฮัก แสนรักดังดวงใจ
โอ้เป็นกรรมต้องจำจากไป อกพี่อาลัยเจ้าดวงเดือนเอย
เห็นเดือนแรมเริศร้างเวหา เฝ้าแต่เบิ่งดูฟ้าเห็นมืดมน
พี่ทนทุกข์ทุกข์ทนโอ้เจ้าดวงเดือนเอย พี่ทนทุกข์ทุกข์ทน โอ้เจ้าดวงเดือนเอย
เสียงไก่ขันขาน เสียงหวานเจื้อยแจ้ว หวานสุดแล้ว หวานแจ้วเจื้อยเอย
ถึงจะหวานเสนาะ หวานเพราะกระไรเลย บ่แม้นทรามเชย เราละเหนอ
แต่เนื่องจากเนื้อร้องของเพลงนี้ มีคำว่า “ดวงเดือน” เป็นคำเด่น จึงเรียกเพี้ยนกันเป็นเพลง“ลาวดวงเดือน” ตลอดมา
คราใดที่ทรงคิดถึงความรักความหลังที่นครเชียงใหม่ โดยเฉพาะเมื่อลมเหนือพัดมา ก็จะทรงดนตรีเพลง “ลาวดำเนินเกวียน” ตลอดพระชนม์ชีพ
อย่างไรก็ตาม ชีวิตที่มีบรรดาศักดิ์สูงในสังคม ก็จำต้องดำเนินไปตามกรอบที่ถูกวางไว้ ในวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๔๔๖ นั้นเอง พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ ก็ทรงเข้าพิธีเสกสมรสกับ หม่อมเจ้าหญิงวรรณวิลัย กฤดากร พระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนเรศวรฤทธิ์ มีพระธิดา ๑ องค์ คือ หม่อมเจ้าหญิงพรรณเพ็ญแข เพ็ญพัฒน์ และยังมีพระโอรสกับหม่อมเทียม คชเสนี อีก ๑ องค์ คือหม่อมเจ้าชายเผ่าเพ็ญพัฒน์ เพ็ญพัฒน์
ส่วนเจ้าหญิงชมชื่นก็เข้าพิธีสมรสกับ เจ้าน้อยสิงคำ หรือ เมืองคำ ณ ลำพูน
ในเวลาต่อมา ในปี ๒๔๕๑ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดกล้าฯ พระราชทานพระยศพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒน์พงศ์ เป็น กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม
กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม ผู้เป็นต้นราชนิกุล “เพ็ญพัฒน์” มีพระพลามัยไม่สมบูรณ์นัก อาจจะเป็นเพราะพระทัยที่เศร้าสร้อยจากความผิดหวังเรื่องความรัก จึงมีพระชนมายุสั้นเพียง ๒๘ พรรษา สิ้นพระชนม์ด้วยโรคปอดเมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๔๕๒
และบังเอิญเสียเหลือเกิน ในปี ๒๔๕๓ เจ้าหญิงชมชื่นก็สิ้นชีพิตักษัยในวัยเพียง ๒๑ ปี
แม้จะทราบกันว่าพระองค์เพ็ญพัฒนพงศ์ทรงชอบนิพนธ์เพลงในท่วงทำนองใหม่ๆ แต่ก็น่าเสียดายที่ค้นพบเพียง “ลาวดวงเดือน” เพลงเดียว ที่เป็นผลงานเพลงของพระองค์ตลอดพระชนม์ชีพ
เครดิต โดย โรม บุนนาค
แก้ไขล่าสุดโดย Dhoko เมื่อ Tue Feb 16, 2016 22:43, ทั้งหมด 1 ครั้ง
โหวตเป็นกระทู้แนะนำ